กิจชนะ แก้วแก่น
อดีตนายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย (สนกท.) ปี 2553
ultranawin@gmail.com
ที่มาและความสำคัญของแนวคิด
SaMMauL’s Model Concept
เป็นแนวคิดของการพัฒนาวิชาชีพกายภาพบำบัดในมุมมองของนิสิตนักศึกษา
ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย นศก.กิจชนะ แก้วแก่น หลังจากที่ได้บริหารงานสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัด
(สนกท.) มาครบ 1 ปี (วันที่ 24 เมษายน 2553
– 24 เมษายน 2554) แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากประสบการณ์การบริหารงานที่ผ่านมาพบว่า
ยังไม่มีความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดกับองค์กรของนักกายภาพบำบัด
การดำเนินงานของกลุ่มนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดกับองค์กรของนักกายภาพบำบัดยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน
มุมมองการพัฒนากิจกรรมเพื่อผลักดันการพัฒนาวิชาชีพภายใต้บทบาทของนิสิตนักศึกษายังมองไม่ค่อยถูกจุดที่เป็นปัญหาของวิชาชีพจริงๆ
กิจกรรมใหม่ๆของกลุ่มนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดยังไม่ทราบกันอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้เนื่องมาจากกลุ่มนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดยังอ่อนประสบการณ์และไม่ทราบจุดยืนของตนเองในการพัฒนาวิชาชีพที่แท้จริง
ที่สำคัญคือขาดเวทีประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดกับองค์กรของนักกายภาพบำบัด
ผลตามมาคือเกิดความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างกลุ่มนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดและองค์กรของนักกายภาพบำบัด
ทำให้กิจกรรมของกลุ่มนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดยังไม่เป็นที่ยอมรับของอาจารย์กายภาพบำบัดหลายๆท่าน
ทั้งๆที่กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยสร้างความรักและความภาคภูมิใจในวิชาชีพกายภาพบำบัดต่อไปในอนาคต
เป็นเวทีที่ใช้สะท้อนความคิดเห็นและการแสดงออกทางความคิดของนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัด
เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างรุ่นพี่นักกายภาพบำบัดกับรุ่นน้องนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัด
เป็นเวทีที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มและร่วมมือกันเป็นฟันเฟืองเพื่อสร้างแรงขับดันในการขับเคลื่อนการพัฒนาวิชาชีพกายภาพบำบัดภายใต้บทบาทของนิสิตนักศึกษาอาศัยว่าไม้อ่อนดัดง่ายซึ่งเป็นการปลูกฝังให้เกิดการรวมตัวและสร้างเครือข่ายความร่วมมือของนักกายภาพบำบัดในอนาคต
การรวมกลุ่มของนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดจึงเป็นเสมือนกระจกเงาของบุคลากรวิชาชีพกายภาพบำบัดคนรุ่นใหม่เพราะนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดก็คือนักกายภาพบำบัดในอนาคตนั่นเอง
การพัฒนาวิชาชีพโดยพัฒนาบุคลกรตั้งแต่เป็นนิสิตนักศึกษานับได้ว่าเป็นการพัฒนาวิชาชีพแบบยั่งยืน
อธิบายแนวคิด
สภา คือ สภากายภาพบำบัด ทำหน้าที่ควบคุม
กำกับ ดูแล กำหนดมาตรฐานการให้บริการของผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด
และควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพกายภาพบำบัด(1)
สภากายภาพบำบัดจึงเปรียบเสมือนองค์กรที่ดูแลประชาชนให้ได้รับการบริการการรักษาทางกายภาพบำบัดให้ดีที่สุด
สมาคม คือ
สมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย (สกท.) ทำหน้าที่เป็นเกียรติและหลักประกันของวิชาชีพกายภาพบำบัด
โดยการสร้างคุณภาพ และมาตรฐานแห่งวิชาชีพ ตลอดจนมาตรฐานทางการศึกษาทางกายภาพบำบัด(2) สมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยจึงเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของนักกายภาพบำบัดในประเทศไทย
สหพันธ์ คือ สหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย
(สนกท.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานระหว่างนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดจากสถาบันต่างๆและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหมู่สมาชิก(3)
สหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยจึงเป็นกลุ่มกิจกรรมที่เป็นตัวแทนของนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดในประเทศไทย
จะเห็นว่ามี 2
ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักกายภาพบำบัด และ 1 ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัด
การที่นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดจะมีโอกาสแสดงพลังและความคิดได้เต็มที่นั้นก็ต้องแสดงผ่านเวทีของนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดนั่นเอง
การสร้างเวทีของนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดขึ้นมาก็จะช่วยสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับวิชาชีพของนิสิตนักศึกษา
ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อองค์กรของนักกายภาพบำบัดในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิชาชีพให้กับนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัด
การร่วมมือกันระหว่าง 3
ภาคส่วนนั้นย่อมจะทำให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพได้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
โดยที่องค์ของนักกายภาพบำบัดสามารถนำประเด็นปัญหาวิชาชีพที่เกิดขึ้นมาให้กลุ่มนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดได้พัฒนาวิชาชีพภายใต้บทบาทของนิสิตนักศึกษาโดยอาศัยหลักการของ
Problem-Based Learning ซึ่งเป็นการฝึกเรียนรู้กับปัญหาจริงที่เกิดขึ้นกับวิชาชีพ(4) กล่าวคือ หากมีปัญหาใดของวิชาชีพที่เป็นปัญหาสำคัญ
องค์กรของนักกายภาพบำบัดก็จะทำหน้าที่แก้ไขในฐานะของนักกายภาพบำบัดและส่งโจทย์ของปัญหานั้นมาให้กลุ่มนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดได้ร่วมกันเรียนรู้และแก้ไขในฐานะของนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดโดยองค์กรของนักกายภาพบำบัดก็จะมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงของกลุ่มนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดเพื่อให้การแก้ไขปัญหานั้นดำเนินอยู่บนลู่ทางที่ถูกต้อง
ทำให้เกิดการเรียนรู้ประสบการณ์และการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
เกิดเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวเพราะเมื่อนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดเรียนจบและประกอบอาชีพเป็นนักกายภาพบำบัด
พวกเขาเหล่านั้นก็จะเป็นแรงหนุนสำคัญช่วยแก้ไขปัญหาวิชาชีพโดยมีประสบการณ์ที่รุ่นพี่ส่งมอบให้เป็นทุนเดิม
การนำหลักการ Problem-Based
Learning มาใช้ในการเรียนรู้ปัญหาของวิชาชีพนั้นมีการศึกษาเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในหลายๆวิชาชีพ(5) เช่น สัตวแพทย์ พยาบาล กิจกรรมบำบัด รวมถึงวิชาชีพกายภาพบำบัดด้วย
ซึ่งจากการศึกษาของ Helen Saarinen-Rahiika และ Jill
M Binkley(6) ในปี 1998 ได้ศึกษาการใช้หลักการ
Problem-Based Learning มาผสมผสานในหลักสูตรการเรียนการสอนกายภาพบำบัดในมหาวิทยาลัย
McMaster University พบว่านิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดที่เรียนในหลักสูตรที่มีการใช้หลักการ
Problem-Based Learning มีความแตกต่างที่ดีขึ้นในเรื่องของพฤติกรรมและผลการเรียนจากนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดที่เรียนในหลักสูตรเดิม
จึงได้แนะนำให้นำหลักการ Problem-Based Learning
มาใช้ในการจัดการเรียนของสอนของนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัด จะเห็นว่าหลักการ Problem-Based Learning มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในวิชาชีพของนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแต่การจัดการเรียนรู้ดังกล่าวอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย
สำหรับแนวคิด SaMMual’s Model Concept เป็นการประยุกต์หลักการดังกล่าวเป็นพื้นฐานของแนวคิดในการพัฒนาวิชาชีพอย่างยั่งยืนโดยวิธีการดังกล่าวที่กล่าวมา
ตัวอย่างวิชาชีพที่มีการพัฒนาวิชาชีพโดยเกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรวิชาชีพกับกลุ่มกิจกรรมนิสิตนักศึกษา
วิชาชีพที่เป็นแบบอย่างของการพัฒนาวิชาชีพโดยเกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรวิชาชีพและกลุ่มนิสิตนักศึกษาคือ
วิชาชีพเภสัชกรรม ที่มีความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเภสัชศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ(คภ.สสส.)
ซึ่งเป็นเครือข่ายของเภสัชกรร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย(สนภท.)(7)
ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาของวิชาชีพโดยนำมาจากปัญหา ประสบการณ์
เพื่อพัฒนาสู่ความสำเร็จจากการอาศัยพลังนิสิตนักศึกษากับการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ
เป้าหมายหลักในการดำเนินงานคือการสร้างเภสัชกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้คู่คุณธรรม
รู้เท่าทันกระแสโลกาภิวัตน์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสังคมในการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล
การดำเนินงานนั้นเริ่มมาจากการที่เครือข่ายเภสัชศาสตร์เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ(คภ.สสส.)
ผลักดันแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพสู่การจัดการเรียนการสอน
พร้อมสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาได้ทำกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ใช้แนวคิดของการสร้างเสริมสุขภาพ
โดยมองว่านิสิตนักศึกษาเป็นสิ่งชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงานอย่างแท้จริงเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของแผนงาน
ตัวอย่างกิจกรรมที่ได้ทำ เช่น
-กิจกรรมค่ายหมอยาเรียนรู้ชุมชน วัตถุประสงค์คือ
พัฒนาทักษะในการทำงานร่วมกับชุมชนและพัฒนาความรู้ที่นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ควรมี
เพื่อเป็นพื้นฐานในการให้บริการด้านสาธารณสุข เปิดโลกทัศน์ด้านวัฒนธรรมชุมชน
ผลลัพธ์ที่ได้คือ ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน รู้และรับทราบปัญหาทางสุขภาพ
รวมทั้งการใช้ยาของชาวบ้านในชุมชน ส่งเสริมให้เกิดความรู้รักสามัคคีในหมู่คณะ
อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของแต่ละมหาวิทยาลัย
ก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีและเกิดความมุ่งมั่นที่จะนำวิชาชีพเภสัชกรรมออกสู่ชุมชนต่อไป
-กิจกรรมห้าหมอร่วมกันทำงานในชุมชน
เป็นการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ แพทยศาสตร์
ทันตแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และสาธารณสุขศาสตร์
ในการตรวจและให้คำแนะนำด้านสุขภาพกับคนในชุมชนตามหน้าที่ที่แบ่งกันรับผิดชอบ ผลลัพธ์ที่ได้คือ
สร้างความตระหนักและความสำคัญในปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น ซึ่งนิสิตนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์มีส่วนร่วมในการเผยแพร่ความรู้และสร้างแนวคิดให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพ
อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือระหว่างสหวิชาชีพในการทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ
-กิจกรรมเภสัชรุ่นใหม่ไม่เอา TABINFO
วัตถุประสงค์คือ เพื่อคัดค้านในการจัดงาน FABINFO ASIA 2009 ผลลัพธ์ที่ได้คือ มีผู้ลงรายชื่อ 91,420 คน
คัดค้านการจัดงานครั้งนี้
ข้อเรียกร้องของบุคลากรสาธารณสุขที่ร่วมลงรายชื่อคัดค้านที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี
ทำให้เกิดข้อสรุปว่ารัฐบาลไม่สนับสนุนการจัดงานนี้
ผู้เข้าร่วมงานที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีประมาณสามถึงสี่พันคน
เหลือประมาณสามถึงสี่ร้อยคน
การเกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรวิชาชีพและกลุ่มกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ทำให้เกิดการแสดงพลังทางความคิดและการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ในการร่วมพัฒนาวิชาชีพภายใต้บทบาทของนิสิตนักศึกษา
ก่อให้เกิดงานที่เป็นรูปธรรมโดยตีโจทย์มาจากปัญหาจริงของวิชาชีพ
จากตัวอย่างของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย(สนภท.) ที่ได้มีการถ่ายทอดประสบการณ์และบทเรียนทั้ง
3
กิจกรรมดังกล่าว แสดงเห็นว่าพลังของนิสิตนักศึกษาคนรุ่นใหม่ยังคงใส่ใจต่อสังคมส่วนรวมยังมีจิตอาสาอยู่เต็มเปี่ยมขึ้นอยู่กับว่าผู้ใหญ่และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายจะจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กได้อย่างไร
บทสรุปการพัฒนาวิชาชีพกายภาพบำบัดตามแนวคิด
SaMMuaL’s
Model Concept
การพัฒนาวิชาชีพกายภาพบำบัดจะเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แบบและยั่งยืนได้นั้นต้องก้าวพัฒนาไปข้างหน้าพร้อมกันโดยอาศัยบุคลากรใน
3
ภาคส่วน คือ สภากายภาพบำบัด สมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย
และสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย
ในการดำเนินการพัฒนาวิชาชีพแบบร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างบูรณาการบนพื้นฐานหลักการ
Problem-Based Learning อาศัยว่าองค์กรของนักกายภาพบำบัดเป็นพี่มาช่วยแบ่งปันประสบการณ์ปัญหาวิชาชีพให้กับน้องๆกลุ่มนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาร่วมกันและแสดงออกถึงพลังนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดที่เตรียมพร้อมจะเป็นนักกายภาพบำบัดคนรุ่นใหม่ที่ดีในอนาคต
อย่างไรก็ตาม SaMMuaL’s
Model Concept เป็นแนวคิดและมุมมองหนึ่งของการพัฒนาวิชาชีพกายภาพบำบัดซึ่งอาจมองต่างจากบุคคลากรหลายท่านในวิชาชีพ
ทำให้ถูกมองว่าเดินบนถนนคนละเส้นทาง ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะคิดแบบไหน
เหมือนหรือต่าง แต่ท้ายสุดแล้วเป้าหมายของการเดินทางก็เป็นเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาวิชาชีพกายภาพบำบัดของพวกเราทุกคนนั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
1.พระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัด
พ.ศ. 2547
2.ข้อบังคับของสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย
(ฉบับแก้ไขใหม่) พ.ศ. 2551
3.ระเบียบสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2553
4.Joanna C. Dunlap. Problem-Based Learning
and self-efficacy: How a capstone course prepares students for a profession. ET&D.
2005; 53: 65-85.
5.Samy A. Azer. Problem-based learning, Challenges, barriers and outcome issues. Saudi Med J. 2001; 22: 389-397.
6.Helen
Saarinen-Rahiika, Jill M Binkley. Problem-Based learning in Physical Therapy: A
review of the literature and overview of the McMaster university experience.
Phys Ther. 1998; 78: 195-207.
7.ทีมงานติดตามและประเมินภายใน เครือข่ายเภสัชศาสตร์
เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (คภ.สสส.) ร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย
(สนภท.).
หนังสือเล่มเล็กชุดผลงานเด่นของแผนงานเครือข่ายเภสัชศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ(คภ.สสส.)
ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2550-2553).
[serial online]. Available from:URL:http://info.thaihealth.or.th/library/hot/13134
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น